ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

เล็งทำประกันภัยครอบคลุมการเกษตรทุกชนิด!! (ข่าววันที่ 17 มิถุนายน 2562)
เกษตรฯ เล็งทำประกันภัยครอบคลุมการเกษตรทุกชนิด ลดภาระงบ-แก้ความซ้ำซ้อน รัฐแจกเงินช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยพิบัติ ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นบาท สทนช. ชี้ ปี 51-61 โปรยงบ 1.6 แสนล้านบาทเยียวยาน้ำท่วม-ภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.62 นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเจรจา และหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประกันภัยการเกษตร เพื่อขยายโครงการประกันภัยให้ครอบคลุมการเกษตรทุกชนิด จะทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือเกษตรกร จากสถิติความเสียหายจากภัยพิบัติที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยเยียวยาในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถ้ามีบริษัทประกันภัยมาช่วย จะทำให้เกษตรกรได้เงินเร็วขึ้นด้วย ในสัดส่วนความเสียหายจ่ายแบบรายแปลง โดยเฉพาะความเสียหายจากภัยแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บตก โรคระบาดเพลี้ยและแมลง
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมางบประมาณช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ภัยแล้ง ของรัฐบาล จากปี 2551-2554 เป็นวงเงิน 50,281 ล้านบาท ปี 2554-2557 เป็นวงเงิน 89,777 ล้านบาท ปี 2557-2561 เป็นวงเงิน 18,574 ล้านบาท ซึ่งเกป็นสถิติจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อย่างไรก็ตาม อาจต้องจ้างบริษัทเซเวเยอร์ตรวจสอบ ที่เป็นบริษัทกลาง หรือใช้บริษัทประกันภัยเข้าไปตรวจสอบ โดยกำหนดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องจ่าย ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอความเสียหายถึง 80% ภาครัฐจึงจะใช้งบประมาณรัฐชดเชยความเสียหายได้ ดังนั้นต้องพัฒนาระบบการตรวจสอบพื้นที่เสียหายซึ่งยังใช้เวลาหลายปี
 
ในส่วนทางเลือกที่ 2 สามารถประเมินความเสียหายตามรายแปลง ต้องให้เกษตรกรสมัครใจเข้ามาทำประกันภัยโดยไปประเมินจ่ายรายแปลง อาจจะไม่ต้องมีการประกาศ แต่จะต้องเสียค่ารถจักรยานยนต์เข้าไปตรวจสอบ
 
“กำลังคิด 2 ทางเลือกก่อน โดย ธ.ก.ส.จะเป็นตัวกลางคุยกับบริษัทประกันภัย หากดึงทุกพืช ทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าร่วมโครงการจะส่งผลทำให้เบี้ยประกันถูกลง ที่สำคัญช่วยลดภาระงบประมาณรัฐ ทั้งนี้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้ความช่วยเหลือในระบบเดิมเข้าสู่ระบบประกันภัย ควรยกเลิกการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในระบบเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน “เลขาธิการ สศก. กล่าว
 
สำหรับปัจจุบันภาครัฐได้ดำเนินการประกันภัยในสินค้าเกษตรเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีประกันภัยที่ดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยกับเกษตรกรโดยตรง เช่น ทุเรียน รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น คปภ. และ ธ.ก.ส. ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการประกันภัยสินค้าชนิดอื่นๆ เช่น โคนม มันสำปะหลัง กุ้ง ซึ่งการชดเชยและการให้ความช่วยเหลือ ในรูปการประกันภัยพืชผล เป็นการคุ้มครองความเสียหายหรือสูญเสียต่อพืชผลที่เอาประกันภัย อันเกิดจากภัยธรรมชาติตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยอาจกำหนดให้คุ้มครองภัยทุกชนิด หรืออาจกำหนดให้คุ้มครองจากภัยพิบัติบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ ลูกเห็บตก ขึ้นอยู่กับพื้นที่และชนิดของพืชที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแตกต่างกัน
 
ทั้งนี้ การประกันภัยพืชผลจะกำหนดระยะเวลาคุ้มครองไว้ล่วงหน้า โดยระยะเวลาคุ้มครองนี้จะตรงกับช่วงระยะเวลาเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด ดังนั้นการทำประกันภัยจึงต้องทำก่อนเริ่มระยะเวลาเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด จะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดระบบการเงิน เพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุ้มครองปริมาณผลผลิตที่ลดต่ำลง และคุ้มครองราคาผลผลิตที่ผันผวน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร
 
 
ที่มา: สยามรัฐ
https://siamrath.co.th/n/85268