ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

กรมส่งเสริมฯ เร่งแก้ไวรัสใบด่างในมันสำปะหลัง ผนึกนักวิจัย มก. หาพันธุ์ทนโรคปลูกทดแทน (ข่าววันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564)
กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังอย่างเป็นระบบ ระบุรอเพียงครม. อนุมัติแผน พร้อมผนึกนักวิจัยม.เกษตรฯ เตรียมหาพันธุ์ทนโรคปลูกทดแทน แกนนำเกษตรกรชี้ไวรัสใบด่างไม่ต่างจากโควิดต้องอยู่กับมันให้ได้

หลังนายเติมศักดิ์ บุญชื่น สภาเกษตรกร จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้ใน  29 จังหวัดสร้างความเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 4 แสนไร่ และยังขยายพื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้งการระบาดของโรคดังกล่าว  หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเกรงว่าในปีการผลิต 2565 จะไม่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ได้   

ล่าสุด นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในรายการ “เกษตรวาไรตี้” ทางสถานีวิทยุ มก. ถึงการรับมือโรคดังกล่าว โดยระบุว่า ไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังเริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากจังหวัดแนวชายแดน ได้แก่ สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้นอกจากทำลายต้นพันธุ์ทิ้งด้วยการห่อถุงพลาสติกแล้วขุดหลุมฝังกลบและทำลายแมลงหวี่ขาวยาสูบ ตัวพาหะนำโรคเท่านั้น 

“จากการเก็บข้อมูลล่าสุดพบว่าขณะนี้มีพื้นที่การระบาดอยู่ที่ 3.6 แสนไร่   ถ้าเทียบกับเปอร์เซนต์ของการปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศถือว่ายังต่ำมาก นครราชสีมาระบาดมากที่สุดประมาณ 2.7 แสนไร่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดล้านกว่าไร่ นอกนั้นอยู่ในหลักหมื่น หลักพันและหลักร้อยไร่”  

รพีทัศน์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาตอนนี้การลงพื้นที่ไปให้ความรู้กับเกษตรกร  ซึ่งเกษตรกรเขาค่อนข้างวิตก เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนปัญหาเกิดจากโรคใบด่างหรือโรคชนิดอื่น อย่างเช่นต้นมันสำปะหลังขาดสารอาหารก็แจ้งเข้ามา   เราส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่างมาวินิจฉัยให้ ซึ่งก็บอกไปว่าลักษณะเช่นนี้มันไม่ใช่ใบด่าง แต่เกิดจากขาดธาตุอาหารบ้าง จากโรคแมลงศัตรูพืชเข้าไปทำลายบ้าง  

“การแก้ปัญหาตอนนี้มีอยู่ 2 วิธี ในพื้นที่การระบาดจะแจ้งให้เกษตรกรทำลายกำจัดต้นมันทิ้งด้วยการใส่ถุงฝังกลบไม่ใช่เชื้อระบาดอีกต่อไป อีกวิธีการกำจัดแมลงพาหะเป็นแมลงจุดขาวยาสูบ เราก็ให้คำแนะนำเกษตรกรถึงวิธีป้องกันอย่างไร กำจัดอย่างไร ส่วนแนวทางการจัดการในภาพรวมทั้งประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอแผนผ่านกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ขณะนี้รอเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ”

สำหรับรายละเอียดในแผนนั้น รพีทัศน์ระบุว่าเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วย ทีมเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในรูปของคณะทำงานมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำการตรวจประเมินแปลงตามมาตรฐานวิชาการให้การรับรองว่าแปลงนี้ทำเป็นท่อนพันธุ์ได้และเคลื่อนย้ายได้ 

“สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ตอนนี้ในเรื่องการทำลาย การให้ค่าชดเชยเกษตรกรที่ควรได้รับ รวมทั้งการสนับสนุนท่อนพันธุ์ดี  ต้องยอมรับว่าขณะนี้พันธุ์ต้านทานยังไม่มี มีแต่พันธุ์ทนทาน ตอนนี้ก็มีอยู่ 3 พันธุ์ได้แก่ระยอง72 ห้วยบงและเกษตรศาสตร์50  ทั้ง 3 พันธ์นี้ เราทดสอบแล้วว่ามีความทนทานต่อการเกิดโรคไวรัสใบด่าง”

ผู้อำนวยการสำนักการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยเผยต่อไปว่า นอกจาก 3 พันธุ์นี้แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้หารือกับดร.สกล ฉายศรี ผู้เชี่ยวชาญมันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องการหาพันธุ์ทนทานต่อโรคเพื่อนำมาให้เกษตรกรปลูกเพิ่มเติม โดยได้รับการยืนยันจากดร.สกลว่ายังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ทนทานถึงแม้จะติดเชื้อ แต่ยังสามารถลงหัวให้ผลผลิตได้   โดยอาจารย์จะส่งมอบท่อนพันธุ์ฟรีเพื่อนำไปขยายเพิ่มก่อนส่งมอบให้เกษตรกรปลูกต่อไป

“ใบด่างเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เหมือนโรคหวัดเราต้องทำร่างกายให้แข็งแรง เมื่อมีภูมิคุ้มกันก็จะต้านทานหวัดได้ โรคใบด่างในมันก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องสร้างระบบต้นพืชของเราให้แข็งแรงและให้ผลผลิตให้ได้” รพีทัศน์กล่าวย้ำ

ดร.ดำรงศักดิ์ แก้ววงษ์ไหม เจ้าของไร่ทองก้อน ออร์แกนิค อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีสมาชิกเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในเครือข่ายหลายพันไร่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กล่าวยอมรับว่าการระบาดของโรคไวรัสใบด่างได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จนวันนี้ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคดังกล่าวได้  นอกจากทำใจยอมรับและเผชิญหน้ากับมัน ถึงแม้หน่วยราชการจะเข้ามาดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ก็ตาม ขณะเดียวกันการแยกแยะระหว่างโรคใบด่างกับโรคอื่นก็ทำได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรไม่คุ้นชินหรือขาดความรู้ความเข้าใจในโรคดังกล่าว

“พูดได้เลยว่าต้องทำใจ  เพราะยังหาทางออกไม่เจอ ผมเคยไปดูงานที่เวียดนามของเขาก็เป็นโรคนี้นะ แต่เขาก็อยู่กับมันได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรไม่ต่างจากโควิดนั้นแหละ  ไม่รู้จะไปฆ่ามันยังไง ยิ่งตอนนี้ชาวไร่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต การซื้อขายกระจายท่อนพันธุ์ก็อยู่ในช่วงนี้แหละ ก็ต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อ อีกช่วงก็กลางปีใกล้ต้นฤดูฝน” เจ้าของไร่ทองก้อนกล่าว

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ล่าสุดข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2563) พบว่า มีการระบาดใน 29 จังหวัด รวมกว่า 3.6 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งหมดกว่า 8 ล้านไร่ โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ นครราชสีมา จำนวนกว่า 242,000 ไร่  
 
ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการทราบข้อมูลของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือแจ้งสถานการณ์ในพื้นที่ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไวรัสใบด่าง
 
 
ที่มา: คมชัดลึก
https://www.komchadluek.net/news/regional/457726