ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

โครงการทักษะวิศวกรรมและการพัฒนากระบวนการผลิตแป้ง

ที่มาของโครงการ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2529 โดยมุ่งเน้นในการทำวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาบุคลากรโดยเน้นทักษะการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงงานเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นมาตรการเร่งด่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ดังนั้นไบโอเทคจึงร่วมมือกับ มจธ. เริ่มโครงการ “ทักษะวิศวกรรมและการพัฒนากระบวนการผลิตแป้ง” หรือ SEPO ขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมเคมี/อาหาร และ/หรือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร


วัตถุประสงค์หลักของโครงการ
  1. เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านวิศวกรรมเคมี/อาหาร และ/หรือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่มีความรู้ ความสามารถในการวิจัยพัฒนา
  2. เพื่อผลิตบุคลากรที่สามารถเรียนรู้และแก้ปัญหา โดยเน้นทักษะการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งในเรื่องการออกแบบ ปรับปรุงและแก้ปัญหากระบวนการผลิต
  3. เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสะอาด
  4. เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษากับหน่วยงานเอกชนในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
  5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทุกภาคส่วน
รูปแบบการศึกษา

โครงการ SEPO เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นสหวิทยาการเน้นการประยุกต์หลักการจากสาขาวิชาการของวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารและอื่นๆ เพื่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรง

ดังนั้นนักศึกษาสามารถเรียนภายใต้โครงการทักษะวิศวกรรมเคมีหรือทักษะวิศวกรรมอาหาร โดยนักศึกษาจะได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ (ค่าเล่าเรียน ค่าการทำวิจัย และค่าใช้จ่ายรายเดือน) ในปีการศึกษาแรก นักศึกษาเรียนวิชาพื้นฐาน เน้นการแก้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง โดยนำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนและหลักการ Problem-Based Learning และ Project-Based Learning มาประยุกต์ใช้ ส่วนในปีการศึกษาที่สอง นักศึกษาทำโครงงานวิจัยด้านกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง (6 หน่วยกิต) และทำโครงการวิจัยในสถานฝึกทักษะที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง (6 หน่วยกิต)


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.วรินธร สงคศิริ
ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (EcoWaste)
สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทรศัพท์ 0 2470 7524
โทรสาร 0 2452 3455
E-mail warinthorn@biotec.or.th