ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

ประกันรายได้ ปลูกมันสำปะหลังปี 63/64 วงเงิน 9,789 ล้านบาท (ข่าววันที่ 18 สิงหาคม 2563)
ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 63/64 กว่า 9,789 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนานทั้งใช้-ไม่ใช่งบประมาณ ขยายจ่ายเยียวยากำจัดโรคใบด่างทุกพื้นที่ 56 จังหวัด

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการและมาตรการเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่ราคาตกต่ำ ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนกว่า 5.3 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ รายละเอียดดังนี้ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 วงเงินรวม 9,789.98 ล้านบาท 

เป็นการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2564
 
สำหรับการจ่ายเงินงวดแรก รัฐบาลจะเริ่มจ่ายในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 พฤษภาคม 2565
 
สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ ปี 2562/63 ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ธ.ก.ส. ได้มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วรวม 8 ครั้ง จำนวน 535,759 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,836.97 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 69.13 ของวงเงินชดเชยทั้งหมด คงเหลืองบประมาณอีก 3,053.97 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน 2563
 
น.ส.รัชดากล่าวว่า นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2563/64 ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่ดำเนินการควบคู่กันไประหว่างโครงการประกันรายได้ และการบริหารปริมาณสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป็นการดึงอุปทานออกจากตลาดและเพิ่มช่องทางเลือก เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มอำนาจต่อรองในการจำหน่ายมันสำปะหลังของเกษตรกร ประกอบด้วยมาตรการที่ใช้เงินงบประมาณและไม่ใช้เงินงบประมาณ ดังนี้
 
มาตรการที่ใช้เงินงบประมาณ วงเงินรวม 114 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง วงเงิน 69 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม วงเงินสินเชื่อรวม 1,150 ล้านบาท ให้เกษตรกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท จำนวน 5,000 ราย ชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.50 ต่อปี โดยเกษตรกรผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3 ต่อปี รัฐจะเป็นผู้ชดเชยให้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน (ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2566) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 69 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2566
 
และ 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 45 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ออกสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3 ต่อปี รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน (ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2565) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565
 
มาตรการที่ไม่ใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติม คือ (1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง (ลานมัน/โรงแป้ง) ที่เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อก เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งเป้าหมายวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ตั้งแต่ 60 – 180 วัน คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 225 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
 
และ (2) มาตรการบริหารจัดการการนำเข้าและส่งออก โดยให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ด้วยการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
น.ส.รัชดากล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการป้องกันและการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อ 24 กันยายน 2562 ใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ 11 จังหวัด ปรับเป็น ให้ดำเนินการโครงการฯ ในทุกจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งมีอยู่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ
 
และ 2.การจ่ายเงินชดเชย จากเดิม ที่จ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร เฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ปรับเป็น จ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกพื้นที่ที่มีการทำลายแปลงมันสำปะหลัง ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยใช้งบประมาณเดิม จำนวน 234.26 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว
 
 
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/economy/news-507724