ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

เฉลิมชัย สั่ง เร่งคุมโรค "ใบด่างมันสำปะหลัง" 29 จังหวัด ระบาดหนัก (ข่าววันที่ 11 สิงหาคม 2563)
รมว.เกษตรฯ เร่งกระชับพื้นที่ กำจัด-ควบคุมโรค ใบด่างมันสำปะหลัง หลังพบการระบาดเพิ่มกว่า 3 แสนไร่ วอน เกษตรกร หยุดใช้-หยุดปลูก-หยุดเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค

วันที่ 11 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรค "ใบด่างมันสำปะหลัง" สำรวจล่าสุด พบว่า มีการระบาดใน 29 จังหวัด รวมกว่า 3 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งหมด 8 ล้านไร่ โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ นครราชสีมา จำนวนกว่า 242,000 ไร่ ข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 จึงได้เร่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำลายกำจัดต้นที่เป็นโรค และควบคุมไม่เคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ออกนอกพื้นที่ที่พบการระบาด เพราะการใช้ท่อนพันธุ์ที่มีแหล่งที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ

“ขอย้ำเตือนเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงมันอยู่เสมอ หากพบต้องทำลายทันที และให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่ยังไม่พบการระบาดของโรค ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดขั้นตอน และเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยรายได้และค่าทำลายแปลงมันเป็นโรค ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบ โดยเร็วที่สุด” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด ดำเนินการกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศ และการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเพื่อป้องกันกำจัดโรคใบด่าง

โดยเบื้องต้น วิธีการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตามหลักวิชาการ จะใช้วิธีการฝังกลบและราดด้วยสารเคมี กำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 ม. หรือ วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย หรือ วิธีบดสับโดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ เกษตรกรต้องใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งปลูกที่ไม่พบโรคระบาดหรือการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดใช้เองในชุมชน เพื่อตัดวงจรการระบาดได้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการทราบข้อมูลของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือแจ้งสถานการณ์ในพื้นที่ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

 
ที่มา: ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/politic/1908081