ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดแคมเปญลุยจัดรณรงค์ 3 ปฏิบัติกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง (ข่าววันที่ 16 กันยายน 2562)
กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดแคมเปญ ลุย 3 ปฏิบัติกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคพืชร้ายที่สามารถทำลายต้นมันสำปะหลังได้ จัดรณรงค์ชวนเกษตรกรรู้จักและช่วยกันทำลายโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยเฉพาะ 47 จังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกมันสำปะหลัง

วันนี้ (16 ก.ย) นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากได้รับการยืนยันจากกรมวิชาการเกษตรที่ได้ตรวจสอบและยืนยันว่าประเทศไทยพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังและประกาศใน International Plant Protection Convention ว่าพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่จังหวัดปราจีนบุรี ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ โดยคาดว่าการระบาดมีสาเหตุจากท่อนพันธุ์ที่ปะปนมากับผลผลิตที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และแพร่ระบาดโดยการเพิ่มปริมาณของแมลงพาหะ ได้แก่ แมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ดำเนินการกำจัด สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virusเป็นโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากหากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ส่งผลกระทบกับรายได้ระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังได้

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีมาตรการเพื่อเฝ้าระวังการระบาด เช่น การสำรวจพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ การสร้างการรับรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรโดยผ่านการฝึกอบรม สัมมนา และการถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการจัดทำสื่อต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัวตระหนักรู้ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และส่งเสริมให้สำรวจติดตามการระบาดในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้รณรงค์ให้รู้จักโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 47 จังหวัด เน้นหนักในพื้นที่ระบาด จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จะเน้นให้เกษตรกร รู้จักวิธีการทำลายที่ถูกต้อง พื้นที่เฝ้าระวังจำนวน 36 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง เลย สกลนคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังจะเน้นให้เกษตรกรรู้จักโรค และรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกระตุ้นให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลง

สำหรับ 3 ปฏิบัติกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ ปฏิบัติที่ 1 หมั่นสำรวจแปลงเสมอ โดยสำรวจทุกต้น อย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย เพื่อค้นหาต้นที่เป็นโรค วิธีสังเกต ยอดที่แตกใหม่ ของต้นมันสำปะหลัง ใบจะหงิกงอ เสียรูปทรง ด่างปฏิบัติที่ 2 กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค โดยการถอน ตัดเป็นท่อน ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้สนิท และนำไปตากแดดจนต้นตาย แต่กรณีเป็นทั้งแปลง ให้ถอน ขุดหลุม พ่นสารกำจัดวัชพืช และฝังกลบนอกจากกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคแล้ว ยังจำเป็นต้องกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ แมลงพาหะนำโรค โดยพ่นสารเคมี ตามคำแนะนำ ปฏิบัติที่ 3 การคัดเลือกท่อนพันธุ์สะอาด โดยเกษตรกรควรทราบแหล่งที่มาของท่อนพันธุ์ หลีกเลี่ยงการซื้อท่อนพันธุ์ผ่านออนไลน์ หากเป็นท่อนพันธุ์ที่แตกยอดอ่อนแล้วให้สังเกตยอดอ่อนแตกจากตา ใบจะไม่หงิกงอ เสียรูป
 
 
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000089029