ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สังคม แป้งมันสำปะหลัง จุดเริ่มต้นของการไปสู่การพัฒนาการรวมกลุ่มธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย
EN TH

« April 2024 »
S M T W T F S
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30

กิจกรรม

ข่าว

อุตสาหกรรม 'มันสำปะหลัง' ไทย ขยายตลาด เพิ่มมูลค่า (ข่าววันที่ 2 สิงหาคม 2563)
ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ "มันสำปะหลัง" รายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยความพร้อมด้านพื้นที่เพาะปลูกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 8.7 ล้านไร่ มีผลผลิตราว 31.1 ล้านตัน แต่กลับมีอำนาจในการต่อรองต่ำ หากประเทศคู่ค้าอย่างจีนปรับนโยบาย อนาคตไทยจะเสียแชมป์หรือไม่?

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ในปี 2562 พื้นที่เพาะปลูกมีขนาดประมาณ 8.7 ล้านไร่ ให้ผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 31.1 ล้านตัน

ด้วยความพร้อมในการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบมันสำปะหลัง ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ที่ 80% มันเส้น 57% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 30%

โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 64% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ไทยจึงเน้นผลิตมันสำปะหลังเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดย 64% ของปริมาณวัตถุดิบทั้งหมดจะถูกใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก อีก 36% จะถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ

แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก แต่กลับมีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าต่ำ เนื่องจากตลาดส่งออกมีการกระจุกตัวมาก และหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า การส่งออกของไทยก็จะได้รับผลกระทบมาก

ในปี 2562 อุตสาหกรรมมันสำปะหลังเผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอุปทาน เนื่องจากเกษตรกรได้รับแรงจูงใจจากการปรับขึ้นของราคามันสำปะหลังในปี 2561 จึงขยายพื้นที่เพาะปลูก และการหดตัวของความต้องการจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะจากจีนที่มีนโยบายลดการนำเข้ามันสำปะหลัง ส่งผลให้ปริมาณส่งออกมันสำปะหลังของไทยในปี 2562 หดตัว 20.7% อยู่ที่ 6.6 ล้านตัน (เทียบกับ 8.3 ล้านตันในปี 2561)

แนวโน้มอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในช่วง 1-2 ปีหน้า วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตได้อย่างจำกัด ถึงแม้ความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวดี แต่การส่งออกมีทิศทางหดตัวตามอุปสงค์จากจีน

ผลจาก 1.จีนยังคงมุ่งเน้นการระบายสต็อกข้าวโพดที่มีปริมาณมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเอทานอลหันไปใช้ข้าวโพดซึ่งเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลัง 2.ความต้องการใช้อาหารสัตว์ลดลงจากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และ 3.จีนหันไปลงทุนผลิตมันสำปะหลังในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอล

การเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นปลายจากมันสำปะหลังจะช่วยเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดการแข่งขันทางด้านราคาและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดส่งออกได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างแป้งมันสำปะหลังดัดแปรที่ยังคงมีโอกาสเติบโตดีตามความต้องการของตลาดโลก เนื่องจากสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา

 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891854